วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

แบบฝึกหัด

คำสั่ง  ให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้
 1.  เพราะเหตุใดลักษณะภูมิประเทศ  และภูมิอากาศจึงส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในแต่ละภาค

วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สรุปภูมิศาสตร์โลก

สรุปภูมิศาสตร์โลก
ตัวชี้วัด
     1. ใช้เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ในการรวบรวม วิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
     2. อธิบายการใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมในการสร้างวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไทยและโลก
          ภูมิศาสตร์ ( Geography ) คือ  วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ตลอดจนองค์ประกอบด้านสังคมมนุษย์ โดยใช้วิธีการ เทคนิคและเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ช่วยในการศึกษา และโอเชียเนีย

ภูมิประเทศของทวีปเอเชีย

          ทวีปเอเชียเป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีพื้นที่ประมาณ 44 ล้านตารางกิโลเมตรเป็นทวีปที่มีพื้นที่กว้างที่สุดของโลก ตั้งอยู่ทางซีกตะวันออกของโลก ดินแดนเกือบทั้งหมดอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ยกเว้นบางส่วนของหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย ทวีปเอเชียมีขนาดกว้างใหญ่มาก ทำให้ตอนกลางของทวีปห่างจากมหาสมุทรมาก เป็นเหตุให้อิทธิพลของพื้นน้ำไม่สามารถแผ่เข้าไปได้ไกลถึงภายในทวีป ประกอบกับตอนกลางของทวีปมีเทือกเขาสูงขวางกั้นกำบังลมทะเลที่จะพัดเข้าสู่ภายในทวีป ทำให้บริเวณตั้งแต่ตะวันตกเฉียงใต้จนถึงตอนกลางของทวีปมีพื้นที่แห้งแล้งเป็นบริเวณกว้าง
          1. เขตเทือกเขาสูงตอนกลางทวีป เป็นเทือกเขาเกิดใหม่ เกิดจากการโก่งตัวของเปลือกโลก มีความสูงมาก มีหลายเทือกเขา ซึ่งจุดรวมเรียกว่า ปามีร์นอต (Pamir Knot) หมายถึง หลังคาโลก (The Roof of the World) 
          2. เขตที่ราบสูง บริเวณตอนกลางทวีปมีที่ราบสูงอยู่ระหว่างเทือกเขา เช่น ที่ราบสูงยูนนานและที่ราบสูงทิเบตในประเทศจีนเป็นที่ราบสูงมีขนาดใหญ่และสูงที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีเขตที่ราบสูงตอนใต้ เช่น ที่ราบสูงเดคคาน ในประเทศอินเดีย และเขตที่ราบสูงตะวันตกเฉียงใต้ เช่น ที่ราบสูงอิหร่านในประเทศอิหร่านและอัฟกานิสถาน ที่ราบสูงอาหรับ ในประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่ราบสูงอนาโตเลีย ในประเทศตุรกี
          3. เขตที่ราบต่ำตอนเหนือ เป็นที่ราบดินตะกอนที่เกิดจากแม่น้ำอ๊อบ เยนิเซ และลีนา ไหลผ่าน เรียกว่า ที่ราบไซบีเรีย มีอาณาเขตกว้างขวาง แต่มีคนอาศัยอยู่น้อยเพราะอยู่ในเขตภูมิอากาศหนาวมาก ทำการเพาะปลูกไม่ได้ ในฤดูหนาวน้ำในแม่น้ำจะเป็นน้ำแข็ง
          4. เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ เป็นที่ราบต่ำเกิดจากตะกอน มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก นับเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่ยิ่งใหญ่ของทวีปเอเชีย
          5. เขตหมู่เกาะรูปโค้ง หรือเขตหมู่เกาะภูเขาไฟ เป็นแนวต่อมาจากปลายตะวันออกสุดของเทือกเขาหิมาลัยที่โค้งลงมาทางใต้ เป็นแนวเทือกเขาอาระกันโยมาในพม่าแล้วหายลงไปในทะเล บางส่วนโผล่ขึ้นมาเป็นหมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ หมู่เกาะอินโดนีเซีย หมู่เกาะฟิลิปปินส์ จนถึงหมู่เกาะญี่ปุ่น เป็นแนวภูเขารุ่นใหม่ จึงเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟ

          ภูมิประเทศของทวีปยุโรป

          ยุโรปเป็นทวีปที่มีพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในซีกโลกเหนือค่อนไปทางขั้วโลกเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 10 ล้านตารางกิโลเมตร มีชายฝั่งทะเลที่เว้าแหว่งมาก ทำให้ได้รับอิทธิพลทะเลเกือบทั้งหมด จึงเป็นทวีปที่ไม่มีลักษณะแห้งแล้งแบบทะเลทราย
          1. เขตหินเก่าทางตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเทือกเขาที่มีอายุเก่าแก่ ซึ่งถูกธารน้ำแข็งกัดเซาะจนสึกกร่อนจนมีความสูงไม่มากนัก ได้แก่ เทือกเขาเชอเลน ในคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย และเทือกเขาแกรมเพียนในสกอตแลนด์ และชายฝั่งทะเลมีลักษณะเว้าแหว่งเป็นอ่าวขนาดเล็กที่มีน้ำลึก เรียกว่า ฟยอร์ด” (Fjord) บริเวณชายฝั่งของนอร์เวย์และสกอตแลนด์
          2. เขตที่ราบใหญ่ภาคกลาง เป็นที่ราบขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป ตั้งแต่พื้นที่ทางตอนใต้ของ สหราชอาณาจักร ทางตะวันตกของฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ภาคเหนือของเยอรมนี โปแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย เอสโตเนีย ฟินแลนด์ และพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัสเซีย มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำเซน แม่น้ำไรน์ แม่น้ำเอลเบ แม่น้ำโอเดอร์และแม่น้ำวิสทูลา
          3. เขตที่ราบสูงภาคกลาง เกิดจากการสึกกร่อนพังทลายของภูเขาจนกลายเป็นที่ราบสูง ได้แก่ ที่ราบสูงเมเซตา ทางตอนกลางของคาบสมุทรไอบีเรีย ที่ราบสูงตอนกลางของฝรั่งเศส เรียกว่า มัสซิฟซองตรัล (Massif Central) ที่ราบสูงทางตอนกลางและตอนใต้ของเยอรมนี เรียกว่า แบล็กฟอร์เรสต์ (Black Forest) และที่ราบสูงโบฮีเมีย (Bohenia) ระหว่างพรมแดนเยอรมนีกับสาธารณรัฐเช็กกับสาธารณารัฐสโลวัก
          4. เขตภูเขาหินใหม่ทางภาคใต้ เกิดจากการโก่งตัวของหินเปลือกโลกจนกลายเป็นเทือกเขาสูงขนาดใหญ่ เป็นเขตยังมีแผ่นดินไหว ภูเขาระเบิด เช่น เทือกเขาแอลป์ในฝรั่งเศส เทือกเขาแอปเพนไนน์ ในคาบสมุทรอิตาลี เทือกเขาคอเคซัส ในรัสเซีย


          ภูมิประเทศของทวีปอเมริกาเหนือ

          อเมริกาเหนือเป็นทวีปที่ตั้งอยู่ทางซีกโลกเหนือ และเป็นดินแดนที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็น ที่ราบอันกว้างใหญ่ ที่มีขนาดเนื้อที่ประมาณ 24.2 ล้านตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากทวีปเอเชียและแอฟริกา รูปร่างของทวีปอเมริกาเหนือคล้ายรูปสามเหลี่ยมหัวกลับ คือมีฐานกว้างอยู่ทางเหนือและปลายแหลมอยู่ทางใต้ ความกว้างของทวีปตั้งแต่ช่องแคบเบริงถึงเกาะนิวฟันด์แลนด์ประมาณ 4,828 กิโลเมตร และส่วนที่แคบที่สุดที่คอคอดปานามา กว้างประมาณ 50 กิโลเมตร
          1. เขตหินเก่าแคนาดา (Canadian Shield) ได้แก่ พื้นที่บริเวณรอบๆ อ่าวฮัดสันทางตอนเหนือของทวีปลงมาถึงทะเลสาบทั้ง 5 ประกอบด้วยหินเปลือกโลกที่มีอายุเก่าแก่และผ่านการสึกกร่อนมานาน ลักษณะของพื้นที่จึงเป็นที่ราบเกือบทั้งหมดและอยู่ในเขตอากาศหนาวจัด ทางตอนเหนือมีเกาะใหญ่น้อยมากมาย พื้นที่ส่วนใหญ่มีธารน้ำแข็ง ปกคลุม มีประชากรอาศัยอยู่เบาบางและมีจำนวนน้อยมาก
          2. เขตเทือกเขาภาคตะวันออก มีอาณาเขตตั้งแต่เกาะนิวฟันด์แลนด์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแคนาดาลงมาถึงภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยเทือกเขาเตี้ยๆ ที่ผ่านการสึกกร่อนมานาน ได้แก่ เทือกเขาแอปปาเลเชียน
          3. เขตเทือกเขาสูงภาคตะวันตก เป็นเขตเทือกเขาสูงที่สลับซับซ้อนกันหลายแนวที่เกิดจากการโก่งตัวของเปลือกโลกที่มีอายุน้อย จึงเป็นเขตที่มักเกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหว ได้แก่ เทือกเขาอะแลสกา มียอดเขาสูงสุดในทวีปอเมริกาเหนือ ชื่อ ยอดเขาแมกคินลีย์ (6,190 เมตร) เทือกเขารอกกี้ เทือกเขาแคสเกต เทือกเขาเซียราเนวาดา เทือกเขา เซียรามาเดร และเทือกเขาโคสต์ ระหว่างเทือกเขาสูงเหล่ามีที่ราบสูงระหว่างเทือกเขา โดยเฉพาะที่ราบสูงโคโลราโด มีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นโกรกธาร หุบเหวลึก มีหน้าผา สูงชัน ซึ่งเป็นผลมาจากการไหลของแม่น้ำโคโลราโด ทำให้เกิดการกัดเซาะดินและ ชั้นหิน เกิดเป็นภูมิประเทศที่สวยงาม ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ แกรนด์แคนยอน (Grand Canyon) ในมลรัฐแอริโซนา
          4. เขตที่ราบภาคกลาง เป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีอาณาเขตตั้งแต่มหาสมุทรอาร์กติกทางตอนเหนือลงมาจนถึงอ่าวเม็กซิโกทางตอนใต้ และพื้นที่ระหว่างเทือกเขารอกกีกับเทือกเขาแอปปาเลเชียน ลักษณะโดยทั่วไปเป็นที่ราบลูกคลื่น คือ บริเวณที่สูงจะอยู่ตอนเหนือ บริเวณตอนกลางเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ
          ภูมิประเทศของทวีปอเมริกาใต้

          ทวีปอเมริกาใต้มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางซีกโลกใต้ มีพื้นที่ประมาณ 17.8 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลกรองจากทวีปเอเชีย แอฟริกาและอเมริกาเหนือ มีรูปร่างคล้ายคลึงกับทวีปอเมริกาเหนือ คือ มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีฐานกว้างอยู่ทางทิศเหนือ และมียอดแหลมอยู่ทางทิศใต้ เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลายชนิด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูง มีที่ราบเฉพาะเขตชายฝั่งและลุ่มแม่น้ำ ภูมิอากาศมีทั้งเขตร้อนและเขตอบอุ่น เป็นที่ทวีปที่มีความแตกต่างกันทางด้านกายภาพมากแห่งหนึ่งของโลก กล่าวคือ เป็นดินแดนที่มีระบบภูเขาซึ่งมีแนวต่อเนื่องกันยาวที่สุดในโลก และมีที่ราบลุ่มแม่น้ำที่ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นที่กว้างขวางที่สุดในโลก ขณะที่ดินแดนบางส่วนของทวีปนี้มีอากาศแห้งแล้งมาก
ลักษณะภูมิประเทศ แบ่งออกเป็น 3 เขต ได้แก่
          1. เขตเทือกเขาทางตะวันตก ซึ่งติดต่อกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก มีเทือกเขาแอนดีส ซึ่งเป็นเทือกเขาที่มีภูเขาไฟที่ยังทรงพลังอยู่หลายลูก ทอดเป็นแนวยาวขนานกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก จากเหนือสุดลงมาใต้สุด แนวเทือกเขานี้มีความยาวประมาณ 7,200 กิโลเมตร นับเป็นเทือกเขาที่ยาวที่สุดในโลก และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแม่น้ำแอมะซอน  ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญในทวีปอเมริกาใต้ มียอดเขาที่สูงที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ชื่อ อะคองคากัว สูงประมาณ 6,960 เมตรในประเทศอาร์เจนตินา ในเขตเทือกเขาแอนดีสช่วงที่เทือกเขาแยกตัวออกเป็น 2 แนว มีที่ราบสูงโบลิเวีย ซึ่งเป็นที่ราบสูงขนาดใหญ่ที่มีความสูงเป็นที่สองของโลกรองจากที่ราบสูงทิเบต และบนที่ราบสูงมีทะเลสาบสำคัญ ชื่อทะเลสาบติติกากา เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่ใช้เดินเรือได้ อยู่สูงที่สุดในโลก (3,810 เมตร)
          2. เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ ประกอบด้วย 
               (1) ที่ราบลุ่มแม่น้ำโอริโนโคอยู่ทางตอนเหนือสุด มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาแอนดีส ไหลผ่านที่ราบในเขตประเทศโคลัมเบีย และเวเนซูเอลา ลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก
               (2) ที่ราบลุ่มแม่น้ำแอมะซอนเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่ใหญ่และมีประมาณน้ำมากที่สุดของโลก มีเนื้อที่ประมาณ 7 ล้านกิโลเมตร มีความยาวประมาณ 6,437 กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ 2 รองจากแม่น้ำไนล์ เป็นแม่น้ำที่ได้รับน้ำจากหลายสาขาที่มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาแอนดีส
               (3) ที่ราบลุ่มแม่น้ำปารานา-ปารากวัย-อุรุกวัย อยู่ทางใต้ของที่ราบลุ่มแม่น้ำแอมะซอนในเขตประเทศปารากวัย อุรุกวัยและอาร์เจนตินา
          3. เขตที่ราบสูงภาคตะวันออก มีที่ราบสูงบราซิล อยู่ทางด้านตะวันออกของทวีปในเขตประเทศบราซิล เป็นที่ราบสูงที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่มาก นอกจากนี้ยังมีที่ราบสูงกิอานา อยู่ในเขตประเทศเวเนซุเอลา เฟรนซ์เกียนา ซรินาเม กายอานาและภาคเหนือของประเทศบราซิล ที่ราบสูงโตกรอสโซ ในเขตประเทศบราซิลและโบลิเวีย และที่ราบสูงปาตาโกเนียทางตอนใต้ของประเทศอาร์เจนตินา
          ภูมิประเทศของทวีปแอฟริกา


แอฟริกาเป็นทวีปใหญ่มีเส้นศูนย์สูตรผ่านกลางทวีป ทำให้ครึ่งหนึ่งของทวีปแอฟริกาอยู่ทางซีกโลกเหนือและอีกครึ่งหนึ่งอยู่ทางซีกโลกใต้ มีเนื้อที่ประมาณ 30 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากทวีปเอเชีย สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่สูง พื้นที่เป็นที่ราบมีอยู่น้อยมาก ทางตอนเหนือและตอนใต้มีภูมิอากาศแห้งแล้งเป็นทะเลทราย ส่วนภาคกลางเป็นเขตป่าดิบชื้น
           ลักษณะภูมิประเทศแบ่งออกเป็น 4 เขต
          1. เขตที่ราบสูงและเทือกเขาทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ อยู่ในเขตประเทศโมร็อกโก แอลจีเรียและตูนิเซีย คือ เทือกเขาแอตลาส
          2. เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ แอฟริกามีที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญ เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำไนล์ เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีบริเวณแคบๆ อยู่ในเขตประเทศซูดานและอียิปต์ มีความยาวที่สุดในโลก คือ 6,695 กิโลเมตร เกิดจากที่สูงและภูเขาทางตะวันออกของทวีป ไหลผ่านที่ราบสูงและทะเลทรายสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางเหนือ และที่ราบลุ่มแม่น้ำคองโก อยู่ทางตอนกลางทวีปในเขตประเทศคองโก และซาอีร์ มีพื้นที่กว้างขวางมาก มีความยาวเป็นลำดับที่ 2 ของทวีปแอฟริกา ไหลผ่านทะเลสาบ ที่ลุ่ม ที่ราบสูงหลายแห่ง จึงมีเกาะแก่งและน้ำตกมากมาย
          3. เขตที่ราบสูงและภูเขาสูง ทางภาคตะวันออกเป็นเขตที่มีความสูงมาก ได้แก่ ที่ราบสูงเอธิโอเปีย และที่ราบสูงแอฟริกาตะวันออก นอกจากนี้ยังมีภูเขาไฟทั้งที่ยังคุกรุ่นอยู่ เช่น ยอดเขาคิลิมานจาโร เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในแอฟริกา อยู่ในเขตประเทศแทนซาเนีย (5,870 เมตร) มีทะเลสาบอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ทะเลสาบวิกตอเรีย ทะเลสาบแทนแกนยิกา ส่วนทางภาคใต้ ประกอบด้วยที่ราบสูงกว้างเกือบ 1,300 กิโลเมตร จากทางตะวันตกถึงตะวันออก เป็นที่ราบสูงหินแกรนิต เรียกว่า เดอะแรนด์ (The Rand) หรือ วิตวอเตอร์สแรนด์ (Witwatersrand) เป็นแหล่งผลิตแร่ทองคำที่สำคัญของโลก
          4. เขตที่ราบสูงภาคตะวันตก เป็นที่ราบกว้างใหญ่มีอาณาเขตตั้งแต่ทะเลทรายสะฮาราถึงอ่าวกินี มีพื้นที่ผิวปกคลุมด้วยหิน กรวด ปูน ทราย และดินตะกอน
          ภูมิประเทศของทวีปออสเตรเลีย
          ทวีปออสเตรเลียอยู่ทางซีกโลกใต้และบางคนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนมหาสมุทร หรือที่เรียกกันว่า โอเชียเนีย (Oceania) หมายถึง ดินแดนที่เป็นหมู่เกาะต่างๆ ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ทวีปออสเตรเลียซึ่งเป็นทวีปที่มีขนาดเล็กที่สุด เนื้อที่ราว 7.7 ล้านตารางกิโลเมตร เล็กกว่าทวีปเอเชียถึง 6 เท่า
          สภาพพื้นที่ของประเทศออสเตรเลีย แบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่
          1. เขตที่สูงทางภาคตะวันออก (Eastern Highland) เป็นเขตที่มีเทือกเขาสูงวางตัวจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ขนานกับชายฝั่งตะวันออก
          2. เขตที่ราบภาคกลาง (Central Plain) มีลักษณะเป็นที่ราบต่ำ มีพื้นที่ ประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ และเป็นแหล่งที่มีน้ำบาดาลมาที่สุดของประเทศ
          3. เขตที่ราบสูงภาคตะวันตก (Western Plateau) เป็นเขตที่สูงภาคตะวันตก ซึ่งมีพื้นที่มากกว่าครึ่งทวีป ประกอบด้วยที่ราบชายฝั่งแคบๆ และที่สูงเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีภูมิประเทศที่เป็นเขตทะเลทรายอยู่หลายแห่ง  ชายฝั่งตะวันออกของรัฐควีนส์แลนด์มีแนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก ที่วางตัวขนานกับชายฝั่งเรียกว่า เกรท แบริเออร์ ริฟ (Great Barrier Reef) วางตัวขนานและห่างจากชายฝั่งประมาณ 40-200 กิโลเมตร และยาวประมาณ 2,000 กิโลเมตร ส่วนภูมิประเทศของดินแดนที่เป็นหมู่เกาะต่างๆ โอเชียเนียส่วนใหญ่เป็นเกาะและพืดหินปะการัง กระทั่งแผ่นดินเกิดการยกตัว นอกจากนี้ ยังมีที่เป็นภูเขาไฟ เทือกเขาขรุขระทุรกันดาร ที่ราบแคบๆ และป่าทึบ
เขตภูมิอากาศของโลก
          ภูมิอากาศ (Climate)” หมายถึง สภาวะอากาศของทวีป ประเทศ เมือง หรือท้องถิ่นแห่งใดแห่งหนึ่ง เป็นลักษณะอากาศที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลายาวนาน จึงจัดได้ว่าเป็นตัวแทนของลักษณะอากาศเฉลี่ยของภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ในบางครั้งเราเรียกว่า ภูมิอากาศประจำถิ่น“(Topoclimate) ข้อมูลภูมิอากาศได้มาจากการตรวจอากาศประจำวันและนำข้อมูลที่ได้มาทำการบันทึกติดต่อกันเป็นเวลานาน และจึงนำมาหาค่าเฉลี่ยอีกครั้งหนึ่ง โดยข้อมูลที่จัดเก็บได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน เมฆ และลม ร่วมกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ อันได้แก่ ทัศนวิสัย แสงแดด พายุหมุน เป็นต้น
          โดยสรุปคือ ภูมิอากาศเป็นสภาวะอากาศเฉลี่ยประจำพื้นที่ ส่วนลมฟ้าอากาศคือสภาพอากาศในช่วงระยะเวลาต่างๆ ภูมิอากาศ เป็นปัจจัยที่สำคัญทางภูมิศาสตร์อย่างหนึ่งที่มีผลต่อชีวิตมนุษย์ เนื่องจากเป็นตัวกำหนดว่ากิจกรรมทั้งทางกายภาพและด้านเศรษฐกิจสังคมของมนุษย์ แต่จากลักษณะสภาพทั่วไปของพื้นผิวโลกที่มีความแตกต่างกัน มีผลทำให้ลักษณะภูมิอากาศแตกต่างกันไป ซึ่งปัจจัยที่ควบคุมสภาพภูมิอากาศ มีหลายปัจจัย เช่น ความเข้มของแสงแดด กระแสน้ำในมหาสมุทร กระแสลมจากมหาสมุทร เทือกเขา ระดับสูงของพื้นที่ เป็นต้น
          การจำแนกภูมิอากาศ
          การแบ่งเขตภูมิอากาศทำได้หลายวิธีโดยอาศัยองค์ประกอบของอากาศทางด้านต่างๆ เช่น อุณหภูมิ หยาดน้ำฟ้า ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติ แนวปะทะของมวลอากาศ และลักษณะดิน โดยการแบ่งเขตภูมิอากาศของโลกจะเน้นเฉพาะบนภาคพื้นดินเท่านั้น เนื่องจากบนพื้นน้ำความแตกต่างของอุณหภูมิมีไม่มากนัก สำหรับการจำแนกภูมิอากาศของโลกมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การจำแนกโดยใช้เกณฑ์จากอุณหภูมิ ปริมาณฝน ลักษณะพืชพรรณ เป็นต้น ในปี ค.ศ.1918 วลาดิเมียร์ เคิปเปน (Vladimir Kóppen) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอร์มัน ได้จำแนกภูมิอากาศโลกโดยใช้เกณฑ์อุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนและปริมาณหยาดน้ำฟ้า โดยใช้สัญลักษณ์เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ ดังนี้
          A ภูมิอากาศร้อนชื้นแถบศูนย์สูตร ทุกเดือนอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 18°C 
          B ภูมิอากาศแห้งแล้ง ฝนตกน้อย อัตราการระเหยของน้ำมาก 
          C ภูมิอากาศอบอุ่น ฤดูร้อนอากาศอบอุ่น ฤดูหนาวไม่หนาวมาก อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่หนาวที่สุดต่ำกว่า 18°C และสูงกว่า -3°C 
          D ภูมิอากาศหนาวเย็น ฤดูร้อนอากาศเย็น ฤดูหนาวหนาวเย็น อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่อบอุ่นที่สุดไม่ต่ำกว่า 10°C อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่หนาวที่สุดต่ำกว่า -3°C 
          E ภูมิอากาศขั้วโลก อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่อบอุ่นที่สุดต่ำกว่า 10°C
ภูมิอากาศร้อนชื้น (Tropical Climates) : A
          เป็นบริเวณที่มีอากาศร้อนชื้น มีฝนตกมากกว่า 1,500 มิลลิเมตรและทุกๆ เดือนมีอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 18°C กลางวันและกลางคืนมีอุณหภูมิไม่แตกต่างกันมาก โดยกลางวันมีอุณหภูมิเฉลี่ย 32°C กลางคืนมีอุณหภูมิเฉลี่ย 22°C ความชื้นสูงมีไอน้ำในอากาศจำนวนมาก จึงมักมีการควบแน่นเกิดน้ำค้างและหมอกปกคลุมพื้นดินเวลากลางคืน พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างละติจูดที่ 25° เหนือ ถึง 25° ใต้ ได้แก่ ลุ่มน้ำแอมะซอนในประเทศบราซิล ลุ่มน้ำคองโกในตอนกลางของทวีปแอฟริกา หมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย พื้นที่บางส่วนปกคลุมด้วยป่าฝนเขตร้อน (Tropical Rain Forest) มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่งป่าฝนเขตร้อนนั้นมีพื้นที่เพียง 7% ของโลก แต่มีสปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก
ภูมิอากาศแห้งแล้ง (Dry Climates) : B
          เป็นบริเวณที่อากาศแห้ง ปริมาณการระเหยของน้ำมากกว่าปริมาณหยาดน้ำฟ้าที่ตกลงมา ทำให้ท้องฟ้าโปร่ง แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นผิวมีความเข้มแสงมากกว่า 90% กลางวันและกลางคืนมีอุณหภูมิต่างกันมาก โดยกลางวันมีอุณหภูมิสูงกว่า 38°C (50° ในช่วงฤดูร้อน) กลางคืนอาจจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง   (-15°C ในช่วงฤดูหนาว) ปริมาณน้ำฝนในรอบปีเพียงประมาณ 50มิลลิเมตร บางปีอาจไม่มีฝนตกเลย  พื้นที่ในเขตนี้กินอาณาบริเวณถึง 30% ของพื้นทวีปทั้งหมดของโลก อยู่ระหว่างละติจูดที่      20° - 30° เหนือและใต้ โดยมากจะเป็นทะเลทรายบนที่ราบซึ่งห้อมล้อมด้วยเทือกเขา ได้แก่ ทะเลทรายซาฮาร่าในทวีปแอฟริกาตอนเหนือ ทะเลทรายโกบีในประเทศจีน ทะเลทรายเหล่านี้มักจะประกอบด้วยดินทราย ซึ่งจะมีพืชบางประเภทเท่านั้นที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เช่น กระบองเพชร


ภูมิอากาศอบอุ่น (Mesothermal Climate) : C
          เป็นบริเวณที่ฤดูร้อนและฤดูหนาวมีอุณหภูมิไม่แตกต่างกันมาก อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่หนาวที่สุดต่ำกว่า 18°C และสูงกว่า -3°C แบ่งย่อยออกเป็น
          - ภูมิอากาศแถบเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Climates) พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่รอบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตอนใต้ของทวีปยุโรป เป็นเขตที่มีฝนตกน้อย พืชพรรณเป็นพุ่มเตี้ย มักเกิดไฟป่าในช่วงฤดูร้อน และมีฝนตกในช่วงฤดูหนาว
          - ภูมิอากาศแถบอบอุ่น (Temperate Climates) พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างละติจูดที่ 25° ถึง 40° เหนือ ได้แก่ ทวีปยุโรปตอนกลาง และซีกตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน เกาหลีเหนือ-ใต้ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ซีกตะวันออกของออสเตรเลียและอาร์เจนตินาและตอนใต้ของบราซิล เป็นบริเวณที่ฤดูกาลทั้งสี่ ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวมีความแตกต่างอย่างเด่นชัด ปริมาณน้ำฝนในรอบปีประมาณ 500 - 1,500 มิลลิเมตร ไม้ที่ขึ้นแถบนี้เป็นไม้เขตอบอุ่นซึ่งจะผลัดใบในฤดูหนาว
ภูมิอากาศหนาวเย็น (Microthermal Climates) : D
          อากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูร้อน (อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่อบอุ่นที่สุดไม่ต่ำกว่า 10°C) และมีสภาพอากาศรุนแรงในช่วงฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นปกคลุมนานถึง 9 เดือน (อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่หนาวที่สุดต่ำกว่า -3°C) ซึ่งทำให้น้ำแข็งจับตัวภายในดิน ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ช้า พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในอยู่ระหว่างละติจูดที่ 40° ถึง 60° เหนือ ของทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรปเหนือ(แถบสแกนดิเนเวีย ได้แก่ สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์และฟินแลนด์) และเอเชีย (สหพันธรัฐรัสเซีย) ป่าไม้ในเขตนี้ส่วนมากจะเป็นต้นไม้ไม่ผลัดใบที่ทนอากาศหนาวได้ อาทิ สนฉัตร สนสองใบ สนใบแหลม
ภูมิอากาศขั้วโลก (Polar Climates) : E
          มีอากาศแห้ง ลมแรง และหนาวเย็นตลอดทั้งปี ฤดูร้อนมีอุณหภูมิสูงกว่าจุดน้ำแข็งเพียงแค่ 2-4 เดือน (ต่ำกว่า 10°C) มีฤดูหนาวที่ยาวนาน และมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่เหนือเส้นอาร์คติกเซอร์เคิล (66.5°เหนือ) ขึ้นไป และใต้เส้นแอนตาร์คติกเซอร์เคิล (66.5°ใต้) ลงมา บริเวณใกล้กับขั้วโลก เช่น เกาะกรีนแลนด์และทวีปแอนตาร์กติกมีแผ่นน้ำแข็งถาวรหนาหลายร้อยเมตรปกคลุม พื้นมหาสมุทรเต็มไปด้วยภูเขาน้ำแข็ง พื้นทวีปในส่วนที่ห่างไกลจากขั้วโลก น้ำในดินแข็งตัวอย่างถาวร พืชส่วนใหญ่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้

***  เขตร้อน อยู่ระหว่างเส้นทรอปิคออฟแคนเซอร์ กับเส้นทรอปิคออฟแคปริคอน (ละติจูด 23.5° ใต้) แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นโลกเป็นมุมชัน และมีโอกาสที่ดวงอาทิตย์จะอยู่เหนือศีรษะได้ พื้นที่เขตนี้จึงรับพลังงานจากดวงอาทิตย์ได้มากกว่าส่วนอื่น ๆ ของโลก 
      เขตอบอุ่น อยู่ระหว่างเส้นทรอปิคออฟแคนเซอร์ (ละติจูด 23.5° เหนือ) กับเส้นอาร์คติกเซอร์เคิล (ละติจูด 66.5° เหนือ) และพื้นที่ระหว่างเส้นทรอปิคออฟแคปริคอน (ละติจูด 23.5° ใต้) กับเส้นแอนตาร์คติกเซอร์เคิล (ละติจูด 66.5° ใต้) แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นโลกเป็นมุมเฉียง แม้ว่าไม่มีโอกาสที่ดวงอาทิตย์จะอยู่เหนือศีรษะ แต่ก็ยังได้รับแสงอาทิตย์ตลอดปี
    
 เขตหนาว อยู่เหนือเส้นอาร์คติกเซอร์เคิล (ละติจูด 66.5° เหนือ) ขึ้นไป และใต้เส้นแอนตาร์คติกเซอร์เคิล (ละติจูด 66.5° ใต้) ลงมา แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นโลกเป็นมุมลาด มีโอกาสได้รับแสงอาทิตย์ในช่วงฤดูหนาวน้อยมาก ***







วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปัจจัยที่มีผลต่อภูมิอากาศ

1. ที่ตั้ง
2. ขนาด
3. ความใกล้ - ไกล ทะเล
4. ความสูงต่ำของพื้นที่

5. ลมประจำที่พัดผ่าน


6. กระแสน้ำที่ไหลผ่าน